The School for Future Citizens
  info@siba.ac.th
  02 939 3000

ครูเพทาย อมาตยกุล

หน้าหลัก       รู้จักวิทยาลัยฯ       ครูเพทาย อมาตยกุล

ผลงาน และประวัติครูเพทาย อมาตยกุล

งานที่ประทับใจในชีวิตของครูเพทาย พุทธศักราช 2499

คนตาบอด เดินขบวนไปชุมนุมหน้าสภาผู้แทนราษฎร ขอขายล็อตเตอรี่ นายกรัฐมนตรีให้ ลูกเสือเพทาย อมาตยุกุล และประธานสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ในขณะนั้นแก้ปัญหาเป็นผลสำเร็จ คนตาบอดได้ขายล็อตเตอรี่มีอาชีพเลี้ยงตนเอง

นักศีกษาธรรมศาสตร์ เดินขบวนมาล้อทำเนียบรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงครามให้เลขานุการ คือ นายเพทาย อมาตยกุล ไปเจารณาให้กลับ ได้ทำเป็นผลสำเร็จ

2 ในหลายๆ เรื่องเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิต และเป็นผลงานที่นายเพทาย อมาตยกุล ภาคภูมิใจ

ประสบการณ์ในวัยเด็ก เรียนหนังสือไป-ช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพไป มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเรียนนายร้อย ไปขอเรียนกวดวิชาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยไม่เสียเงิน แต่ต้องทำหน้าที่ภารโรงเมื่อโรงเรียนเลิก ตอนเป็นเด็กรูปร่างเล็กวัดรูปร่างไม่ได้ขนาด แม้แต่ถูกเกณฑ์ทหารได้สมัครเป็นทหารเขาก็ไม่รับ

จบ ม.8 พ.ศ.2476 ก็สมัครเป็นครูทันทีที่โรงเรียนโสภาคพิทยาคมเป็นโรงเรียนแห่งแรกในชีวิตการเป็นครูของนายเพทาย อมาตยกุล ได้รับเงินเดือนๆ ละ 8 บาท

คิดอยากจะเป็นเจ้าของโรงเรียนตั้งแต่อายุยังไม่ครบ 20 ปี ก็ยังไม่ได้เป็นจึงต้องสอนหนังสือทั้งกลางวันและกลางคืน มีคนรู้จักคำขวัญของครูเพทายทั่วเมืองว่า “โตแล้วเรียนลัดดีกว่า”

นายเพทาย อมาตยกุล เกิดปีเถาะ เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2458 มีความกระฉับกระเฉง เฉียบคมเสมอสำหรับการเมือง และการศึกษา ท่านเป็นบุตรของนายโชติ และนางแฉล้ม อมาตยกุล มีอาชีพค้าขาย มีน้องชายเพียงคนเดียวรับราชการทหาร

การศึกษา เรียนจบชั้นประถมที่โรงเรียนเทียนธูปพลีเทเวศร์ แล้วสอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จบชั้นมัธยมปีที่ 6 ศึกษาต่อชั้น ม.7-8 แผนกวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนเดิม กับอาจารย์หลวงสวัสดิ์ สรศาสตร์พุทธิ มีท่านเจ้าคุณจรัล ชวนแพทย์ เป็นอาจารย์ปกครองหลังจากนั้นได้เรียนวิชาครูประถม และครูพิเศษมัธยมด้วยตนเองที่สามัคยาจารย์สวนกุหลาบ

สำหรับการเรียนการบริหารโรงเรียนราษฎร์ เรียนที่คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนวิชาผู้บังคับบัญชาลูกเสือชั้นสูง จากศูนย์การฝึกลูกเสือโลก สหราชอาณาจักรอังกฤษ

นายเพทาย อมาตยกุล ได้เดินทางไปร่วมประชุม และงานในต่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 หลาย 10 ครั้ง เป็นงานเรื่องการศึกษา การเทศบาล ยาเสพติด การสังคมสงเคราะห์ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร์ การลูกเสือภาตต่างๆ และการลูกเสือโลก

การทำงาน เริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรก พ.ศ.2476 ในหน้าที่ครูน้อย โรงเรียนโสภาคพิทยา และสอนควบคู่อีกแห่งหนึ่งที่โรงเรียนสรัสวดี ขยับฐานะจากครูเป็นเจ้าของโรงเรียน โดยเปิดโรงเรียนวัดประยูรวงค์ เวลาพิเศษ เคราะห์ร้ายถูกลูกระเบิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พังหมด ย้ายไปเปิดใหม่ที่โรงเรียนกวดวิชาวัดสุทัศน์ ขยายกิจการเป็นโรงเรียนวัดราชนัดดา (ส่งเสริมวิทยฐานะ) ตละภัณศึกษา, พิทยาศึกษา, อมาตยศึกษา เวลาพิเศษ เป็นครูโรงเรียนภารตวิทยาลัย เป็นผู้จัดการโรงเรียนจีน พร้อมเป็นผู้จัดการโรงเรียนเทคโนโลยีไทยสุริยะ และโรงเรียนพณิชยการสันติราษฎร์ เป็นครูใหญ่โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง

เป็นกรรมการอุปนายกวิทยาลัยศรีปทุม ประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย และประธานกองทุนสงเคราะห์ชุมชน ในพระบรมราชูปถัมภ์

ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม

นอกจากดำรงตำแหน่งผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนพณิชยการสันติราษฎร์แล้วยังรับหน้าที่กรรมการวิทยาลัยศรีปทุม กรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ กรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์, นายกสมาคมต่อต้านยาเสพติด, นายกสมาคมลูกเสือกรุงเทพ, ที่ปรึกษาบริษัท TURISMO THAI, รองประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, กรรมการมูลนิธิเพื่อการศึกษาบุตรข้าราชการตำรวจ, ผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายต่างประเทศ, ผู้แทนคณะลูกเสือไทย ประจำมูลนิธิลูกเสือโลก

หน้าที่งานพิเศษ และกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์
1. ทำหน้าที่เป็นกรรมการส่งเสริมกิจกรรมโครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ของสภาสังคมสงเคราะห์
2. เป็นอนุกรรมการของสำนักงานเผยแพร่ ป้องกันยาเสพติดของสำนักนายกรัฐมนตรี
3. เป็นประธานชุมชนโครงการพัฒนากลุ่มชน วัดคลองบอน จังหวัดนครสวรรค์
4. เป็นกรรมการของสหพันธ์โรงเรียนราษฎร์ และที่ปรึกาสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ที่นายเพทาย อมาตยกุลได้รับพระราชทาน คือ เหรียญราชรุจิ, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย และประถมาภรณ์ช้างเผือก, ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ,เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ, เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 , เหรียญกาชาดสรรเสริญ ชั้นที่ 1 และเหรียญสดุดีลูกเสือโลก (Bronze Wolf Award)

เพื่อนร่วมรุ่น และเพื่อนสนิทของนายเพทาย อมาตยกุล นายเฉลิม เชี่ยวสกุล, นายสุข พุคยาภรณ์, นายกำจร พรหมวัน, นายสรร อักษรานุเคราะห์, พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, จอมพลประภาส จารุเสถียร

สำหรับจอมพลประภาส จารุเสถียร นอกจากเป็นเพื่อนนักเรียนแล้วยังเคยเป็นแชมเปี้ยนมวยนักเรียนเดียวกันด้วย

แรงบันดาลใจในการเป็นครูโรงเรียนเอกชน เพราะรักความเป็นอิสระ และมีความปรารถนาจะเป็นเจ้าของโรงเรียนให้ได้ จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนพณิชยการสันติราษฎร์ ขึ้นโดยตั้งอยู่เลขที่ 1 ถนนสุโขทัย แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานครจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2505 เนื้อที่ 4 ไร่ 38.6 ตารางวา ได้รับอนุญาตให้รับนักเรียนได้ 2,500 คน ผู้รับใบอนุญาตนายเพทาย อมาตยกุล, ผู้จัดการ นางยุลา อมายกุล และอาจารย์ใหญ่ นายยงยุทธ จิวะวุฒิพงศ์ เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาพาณิชยกรรม และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ

ในการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย นายเพทาย อมาตยกุล เป็นบุคคลชั้น “มันสมอง” ผู้หนึ่งที่รับภาระสำคัญจัดการแก้ไขคลี่คลายปัญหา ผ่อนหนักให้เป็นเบา โดยเฉพาะเวลามีการเลือกตั้งนายกสมาคม นายเพทาย อมาตยกุล มักจะเป็นตุลาการที่มีบทบาทสูงเด่นเป็นที่ยอมรับกันถ้วนในวงการอาชีวศึกษาเอกชน

บทบาททางการเมืองในอดีตของนายเพทาย อมาตยกุล เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกเทศบาลกรุงเทพ, เทศมนตรี, เทศบาลกรุงเทพ, กรรมการสภานิติบัญญัติ, กรรมการสภาร่างรัฐธรรมนูญ, สมาชิกวุฒิสภา และเลขานุการนายกรัฐมนตรี กรรมาธิการการศึกษา และกรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร

งานอดิเรก มี “5 เลี้ยง” คือ เลี้ยงนก เลี้ยงไก่เตี๊ย เลิ้ยงสุนัข เลี้ยงต้นไม้ เลี้ยงคนจน

คติประจำใจนายเพทาย อมาตยกุล “ซื่อสัตย์ ขยัน กตัญญู เจริญ”

งาน และชีวิตของนายเพทาย อมาตยกุล คือ “หนังสือเล่มใหญ่” นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิติจริงเท่านั้น ยังมีงานที่ท่านได้อุทิศเพื่อกิจการลูกเสือ งานการศึกษา และงานสังคมสงเคราะห์ของชาติอีกมากมายเป็นเอนกประการ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป ในชื่อเสียง และคุณงามความดีของท่าน

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2534 นายเพทาย อมาตยกุล ก็ได้จากพวกเราไปด้วยอาการที่สงบ ด้วยโรคหัวใจ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แต่การจากไปของท่านนั้น คงจากไปแต่เพียงร่างกาย แต่คุณงามความดีของท่าน ยังอยู่ในจิตใจของพวกเราชาว SIBA ทุกคนตลอดจนคุณงามความดีของท่านยังได้ฝากไว้กับอนุชนรุ่นหลังให้ได้รำลึกตลอดเวลา

พวกเราชาว SIBA ทุกคน จะได้ร่วมกันดำรงรักษาชื่อเสียง และเกียรติยศของครูเพทาย อมาตยกุล ผู้มีพระคุณต่อวิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฎร์ ในพระอุปถัมภ์ฯ อันทรงเกียรติแห่งนี้ไว้ตลอดไป